

data communication
เรื่อง กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง
ผู้แต่ง เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ไชยเชษฐสุริยวงศ์
เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ไชยเชษฐสุริยวงศ์ หรือขานพระนามกันทั่วไปว่า “เจ้าฟ้ากุ้ง” ประสูติเมื่อ พ.ศ.๒๒๔๘ เป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ หรือสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ กับกรมหลวงอภัยนุชิตพระมเหสีใหญ่ (สมเด็จพระพันวัสสาใหญ่) ทรงมีพระอนุชาต่างพระมารดา ๒ พระองค์คือ พระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าเอกทัศน์ (พระเจ้าเอกทัศน์) และพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ามะเดื่อ (ขุนหลวงหาวัด) เมื่อพระราชบิดาได้เสวยราชย์แล้วโปรดให้สถาปนาเป็นเจ้าธรรมธิเบศร์ กรมขุนเสนาพิทักษ์ เมื่อ พ.ศ.๒๒๗๖ ต่อมาใน พ.ศ.๒๒๘๔ ทรงได้รับการสถาปนาเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) อภิเษกสมรสกับเจ้าฟ้าหญิงอินทสุดาวดี พระองค์เป็นกองการปฏิสังขรณ์ วัดพระศรีสรรเพชญ์และวัดอื่นๆ มากมาย พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถหลายด้าน โดยเฉพาะด้านวรรณกรรม พระองค์ทรงเป็นกวีที่ยิ่งใหญ่สมัยกรุงศรีอยุธยา สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ.๒๒๙๘ โดยสาเหตุลอบเป็นชู้กับเจ้าฟ้านิ่มหรือเจ้าฟ้าสังวาลย์ซึ่งเป็นพระสนมของพระราชบิดาจึงต้องพระราชอาญาถูกโบยจนสิ้นพระชนม์พร้อมด้วยเจ้าฟ้าสังวาลย์ แล้วนำศพไปฝังวัดไชยวัฒนาราม
ผลงานที่ทรงพระนิพนธ์ คือ เพลงยาวบางบท บทเห่เรื่องกากี ๓ ตอน กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง พระมาลัยคำหลวง กาพย์โคลงนิราศธารโศก บทเห่สังวาสและบทเห่ครวญอย่างละบท กาพย์เห่เรือ และ
นันโทปนันทสูตรคำหลวง
ลักษณะการแต่ง กาพย์ห่อโคลง ประกอบด้วยกาพย์ยานี ๑๐๘ บท และโคลงสี่สุภาพ ๑๑๓ บท ปิดท้ายด้วยโคลงสี่สุภาพ ๒ บท ลักษณะกาพย์ห่อโคลงขึ้นต้นด้วยกาพย์ยานี ๑ บท ตามด้วยโคลงสี่สุภาพ ๑ บท ใจความเหมือนกัน เนื้อความนิยมแต่งล้อตามกัน คำต้นบทของโคลงตรงกับคำต้นบทของกาพย์ “ดังไม้ไผ่หรืออ้อยที่มีกาบห่อนั้น”
จุดมุ่งหมายในการแต่ง
เพื่อความเพลิดเพลินในการชมธรรมชาติระหว่างการเดินทางไปพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรี
สาระสำคัญของเรื่อง
ตอนต้นกล่าวถึงกระบวนเสด็จ พรรณนาสัตว์ป่าตามสภาพของมัน พรรณนาพวกนก พรรณนาพันธุ์ไม้ พรรณนาลำธารและปลา และพรรณนาความสนุกรื่นรมย์ที่ธารทองแดง
คุณค่าที่ได้รับจากเรื่อง
๑.ให้ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของสัตว์นานาชนิดในสมัยกรุงศรีอยุธยา พร้อมทั้งธรรมชาติของพรรณไม้ดอกไม้ผลในสมัยกรุงศรีอยุธยา
๒.ให้คุณค่าด้านวรรณศิลป์และด้านสังคมที่ดี กวีใช้คำง่ายๆ ให้อรรถรส สื่อความหมายชัดเจน เล่นคำ เล่นเสียง
ข้อคิดที่ได้จากเรื่อง
๑.ธรรมชาติเป็นสิ่งที่ทุกคนควรช่วยกันรักษาไว้เพื่อให้สภาพแวดล้อมและระบบนิเวศดีขึ้น
๒.กวีสร้างสรรค์งานโดยอาศัยการสังเกตจากธรรมชาติ
๓.ข้อมูลจากวรรณคดีในแต่ละสมัยสะท้อนให้เห็นสภาพสังคมในสมัยนั้น เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์อีกวิธีหนึ่ง
๔.คำประพันธ์ทำให้มีจิตใจที่ละเอียดอ่อนมากขึ้น